ข้อมูลพื้นฐานจังหวัด
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของจังหวัดลพบุรี
ประวัติความเป็นมา
ลพบุรี เป็นเมืองที่มีแห่งความหลากหลาย และต่อเนื่องของความเจริญทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานสำคัญแสดงถึงความเจริญ ดังกล่าว ได้แก่
• การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา ที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อายุระหว่าง 3,500 - 4,500 ปี
• การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ ที่บ้านโคกเจริญ อายุระหว่าง 2,700-3,500 ปี
• การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อายุระหว่าง 2,300 – 2,700 ปี
• การขุดพบชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี ที่เมืองโบราณซับจำปา อ.ท่าหลวง เมืองโบราณดงมะรุม อ.โคกสำโรง เมืองใหม่ไพศาลี ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 1,000 ปี
• การพบหลักฐานที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น เหรียญทำด้วยเงิน มีลายดุนเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ตามคตินิยมของที่ต.หลุมข้าว อ.โคกสำโรง
การพบหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ แสดงว่า ลพบุรี เป็นที่ตั้งของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในส่วนของการ สร้างเมืองลพบุรีนั้น ตามประวัติศาสตร์ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า ผู้สร้างเมืองลพบุรีหรือที่เรียกว่า “ละโว้” ในสมัยโบราณ คือ “พระเจ้ากาฬวรรณดิษ” ราชโอรสแห่งพระเจ้ากรุงขอม ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1002 และเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดีเคยอยู่ใต้อำนาจของมอญและขอม จนกระทั่งในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ คนไทยเริ่มมีอำนาจในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีดำรงฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือ พระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้ พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี ซึ่งพระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม คูเมืองและสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตในปีพ.ศ.1912 พระราเมศวรได้ถวายราชบัลลังค์ให้แก่ พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ครองราชย์ พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวรยังคงครองเมืองลพบุรีต่อไปจนถึง พ.ศ.1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา
หลังจากนั้น เมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลง จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้สืบเนื่องจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อ ค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่ปลอดภัยจากการปิดล้อมและ ระดมยิงของข้าศึกยามเกิดศึกสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ขึ้น เพราะเมืองลพบุรีมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เหมาะสมซึ่งในการสร้างเมืองลพบุรีนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน ได้สร้างพระราชวังที่มีป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างมั่นคง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดประทับที่เมืองลพบุรี ตามหลักฐานปรากฏว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน โปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าที่เมืองลพบุรีหลายครั้ง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ในปี พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา และในสมัยต่อมา ก็ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดเสร็จมาประทับที่เมืองลพบุรีอีก จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะเมืองลพบุรีขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2406 มีการซ่อมกำแพงเมือง ป้อมและประตู รวมทั้งมีการสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎในพระราชวัง พร้อมทั้งพระราชทานนามพระราชวังว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการวางผังเมืองใหม่และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี ลพบุรีจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองทหารเพราะมีหน่วยทหารตั้งอยู่ถึง 11 หน่วย ลพบุรีในปัจจุบันจึงเป็น “เมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยวและเมืองทหาร”
ตราสัญลักษณ์จังหวัดลพบุรี
รูปพระนารายณ์ประทับเหนือพระปรางค์สามยอด หมายถึง การระลึกถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2208 และสร้างความเจริญให้กับแผ่นดินลพบุรีนับเอนกอนันต์ ส่วนพระปรางค์สามยอดเป็นโบราณสถานที่ถือเป็นสัญลักษณ์ ของเมืองลพบุรี
คำขวัญประจำจังหวัด
“วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง”
“เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์”
ต้นไม้ประจำจังหวัด
พิกุล ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก ถึง ขนาดกลาง สูง ถึง 15 เมตร แตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกและเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียน ช่อดอกเป็นช่อกระจุก ดอกสีขาวปนเหลือง กลิ่นหอมเมล็ด มักมีเมล็ดเดียว ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
วิสัยทัศน์
” แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สู่เมืองแห่งความสุข”